วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

พบ "เด็กปั๊ม" เสี่ยงมะเร็ง: รับสาร MTBE ในเบนซินเต็ม ๆ

----------------------------------------------------
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
นักศึกษา คปก. จาก JGSEE ระบุ ปั๊มน้ำมัน คือบริเวณที่มี MTBE (สารเพิ่มออกเทนที่ใช้แทนตะกั่ว) ปะปนในอากาศ ค่อนข้าง สูง ซึ่งสารชนิดนี้อเมริการะบุว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็งในคนได้ แนะเสริมความรู้ "เด็กปั๊ม" ให้อยู่ใกล้หัวจ่ายน้ำมัน โดย เฉพาะ ในขณะทำการ เติมน้ำมัน
MTBE (Methyl tertiary-butyl ether) เป็นสารเพิ่มออกเทนน้ำมันเบนซิน-91 และ 95 แทนการใช้สารตะกั่ว แต่ ทราบหรือไม่ว่าประเทศอเมริกาได้กำหนดให้ MTBE จัดอยู่ในสารก่อมะเร็งกลุ่ม C เพราะสารที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางการหายใจและการกินชนิดนี้ สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุผิว มีและผลต่อระบบหายใจในระยะยาว ซึ่งการที่ สัตว์ทดลองได้รับ MTBE ในปริมาณสูงจะมีโอกาสการเกิดมะเร็งมากขึ้น ทั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
สำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งมียอดการจำหน่ายน้ำมันเบนซินถึง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศนั้น การใช้ MTBE ผสมในน้ำมันเบนซินมานานกว่า 10 ปี จะมีผลอย่างไรต่อคนกรุงเทพฯบ้าง และคนกลุ่มใด เสี่ยงที่จะได้อันตรายจาก MTBE มากที่สุด
นางสาวเจริญศรี กี้ประเสริฐทรัพย์ นักศึกษาปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง คลังน้ำมันเชื้อเพลิง อู่ซ่อมรถ พื้นที่จราจร แนวท่อส่งน้ำมัน และบริเวณที่มีการรั่วไหลของน้ำมัน คือแหล่งปล่อยสาร MTBE สู่สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ โดยสาร MTBE สามารถปนเปื้อนในอากาศได้จากการระเหยและการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มี MTBE ผสมอยู่ รวมถึงสู่ลงสู่แหล่งน้ำทั้งบนดินหรือใต้ดินพร้อมกับน้ำฝนที่ชะล้าง MTBE ในบรรยากาศลงมา หรือจากการการรั่วไหลของน้ำมันเบนซินลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง เช่น การรั่วไหลจากถังกักเก็บน้ำมันใต้ดินตามปั๊มต่าง ๆ หรือจากท่อขนส่งน้ำมัน ที่จะแพร่กระจายลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน
"แม้ว่าดินของ กทม. จะเป็นดินเหนียวที่ทำให้ยังไม่พบ MTBE ปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดินเช่นรัฐแคลิฟอร์เนียของอเมริกา แต่กรุงเทพมหานครก็มีการจราจรหนาแน่นมาก หลายพื้นที่จึงอาจมีสาร MTBE ปะปนอยู่ในบรรยากาศได้มาก ทั้งในสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ 869 แห่ง รวมถึงบนท้องถนนที่จะออกมาพร้อมกับไอเสียจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ดังนั้นกรุงเทพฯจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับ MTBE ที่ปนเปื้อนในบรรยากาศเข้าสู่ร่างกายได้"
ดังนั้น นางสาวเจริญศรี จึงได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "การประเมินความเสี่ยงอันตรายจากสาร MTBE ในน้ำมันเบนซิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร" เพื่อที่จะศึกษาถึงปริมาณของ MTBE ในบริเวณน่าจะมีสาร MTBE ปริมาณสูงในบรรยากาศคือ "ปั๊มน้ำมัน" และ "บริเวณสี่แยก"
จากการวิเคราะห์ปริมาณการได้รับสาร MTBE ในอากาศ มาประเมินกับโอกาสที่จะได้รับอันตรายจาก MTBE ในกลุ่มคนที่ต้องทำงานหรืออยู่ในพื้นที่ซึ่งมี MTBE ปนเปื้อนในอากาศวันละ 8 และ 12 ชั่วโมง ทั้งบริเวณสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน และบริเวณสี่แยกจราจรนั้น งานวิจัยนี้พบว่าทั้ง "ตำรวจจราจร" และ "พ่อค้าแม่ค้า" ซึ่งปฏิบัติหน้าที่และทำมาหากินอยู่บริเวณสี่แยก มีโอกาสได้รับผลกระทบแบบเฉียบพลันรวมถึงความเสี่ยงต่อโรคภัยในระยะยาวจากการได้รับ MTBE ในบรรยากาศน้อย ขณะที่ "เด็กปั๊ม" ซึ่งต้องทำงานใกล้กับ "หัวจ่ายน้ำมัน" มีความเสี่ยงสูงกว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
"แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วความเสี่ยงของเด็กปั๊มที่จะได้รับผลกระทบจากการรับสาร MTBE เข้าสู่ร่างกายจะมีไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่สำหรับปั๊มน้ำมันที่มียอดการจำหน่ายน้ำมันเบนซินเฉลี่ยสูงกว่า 500 ลิตรต่อชั่วโมงโดยประมาณ ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อรวมกับการได้รับสารเคมีชนิดอื่น ๆ ในน้ำมัน เช่น เบนซีน ทอลูอีน เมธิลเบนซีน ฯลฯ เข้าไปด้วยแล้ว ความเสี่ยงที่พนักงานเติมน้ำมันจะมีอาการผิดปกติทั้งแบบเฉียบพลันและในระยะยาวจากพิษของ MTBE รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ ก็ยิ่งมีมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนในปั๊มที่มียอดขายเฉลี่ยไม่มากนักนั้น หากสภาพพื้นที่มีลักษณะปิด เช่น มีรถใหญ่เข้าไปเติมน้ำมันจำนวนมาก หรือล้อมรอบด้วยอาคารสูง ซึ่งมีการระบายอากาศไม่ดี เด็กปั๊มก็มีโอกาสได้รับ MTBE ในปริมาณสูงเช่นกัน"
"การติดตั้งหัวจ่ายน้ำมันแบบมีระบบดูดไอน้ำมันกลับ" (Recovering System) ที่เคยมีการทดลองใช้ในปั๊มน้ำมันบางแห่งเมื่อหลายปีก่อนเพื่อลดการสูญเสียน้ำมันไปในอากาศขณะเติมน้ำมัน ซึ่งสามารถช่วยทำให้ MTBE ไม่ระเหยออกมาด้วยนั้น แม้จะเป็นคำตอบเดียวที่จะช่วยเด็กปั๊มจากการรับสาร MTBE และสารอื่น ๆ ในน้ำมันเข้าสู่ร่างกาย แต่ในทางปฏิบัติคงเป็นไปได้ยากเนื่องจาก ทั้งจากการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ขั้นตอนการเติมที่ยุ่งยากกว่าเดิม แต่ที่สำคัญคือความไม่รู้
"จริง ๆ แล้วหนึ่งในทางป้องกันอย่างง่าย ๆ ก็คือ เมื่อเริ่มปล่อยน้ำมันใส่ช่องเติมในรถแต่ละคันแล้ว ให้รีบออกมาห่างจากจุดนั้น และเข้าไปอีกครั้งเมื่อเติมเสร็จ เพราะระหว่างบริเวณหัวจ่ายที่มีการระเหยกับจุดที่ห่างออกมาเพียงไม่กี่เมตรนั้น ความเข้มข้นของ MTBE ในอากาศก็ต่างกันมากพอสมควร แต่จากการคุยกับเด็กปั๊ม รวมถึงเจ้าของปั๊ม หลายๆ แห่ง พบว่าเขาเหล่านั้นไม่รู้ถึงพิษภัยและการป้องกันตัวจากสารเหล่านี้เลย" นางสาวเจริญศรี กล่าวสรุป
ดังนั้น ทางออกที่เป็นไปได้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เสนอไว้ก็คือ คือ ควรพิจารณากำหนดให้สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันที่มียอดการจำหน่ายสูง ต้องติดตั้งระบบดูดไอน้ำมันกลับ (Recovering System) และควบคุมให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา รวมทั้งการให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวเพื่อลดการได้รับสารระเหยจากน้ำมันเช่น ไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณหัวจ่ายขณะทำการเติมน้ำมัน สำหรับในพื้นที่การจราจร การจราจรที่คล่องตัวจะสามารถช่วยลดปริมาณสารระเหยจากยานพาหนะได้มาก
ลักษณะและคุณสมบัติของสาร MTBE
MTBE เป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหย ได้จากการทำปฏิกิริยาระหว่างสาร isobutene กับ methanol มีลักษณะและสมบัติทางกายภาพและเคมีดังนี้ : เป็นสารระเหย มีคุณสมบัติจุดไฟติด สามารถละลายได้ทั้งในน้ำมันเบนซิน ในแอลกอฮอล์ ในอีเทอร์ และในน้ำ เป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นคล้ายสาร terpene [1, 2, 3, 4]
--------------
อันตรายและความเป็นพิษของสาร MTBE
สาร MTBE สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งจากการกินและการหายใจ ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานเกี่ยวกับอันตรายถึงชีวิตจากการสูดดมสาร MTBE แต่พบว่าสาร MTBE มีอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คือ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุผิว มีผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียนได้ในลักษณะพิษเฉียบพลัน สำหรับพิษเรื้อรังที่เกิดจากสาร MTBE คือ มีผลต่อระบบการหายใจในระยะยาว เพิ่มอัตราการเกิดโรคหอบและเพิ่มความรุนแรงของโรคหอบได้ มีผลต่อความแข็งแรงของทารกในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงในการแท้ง หรือการตายของทารกในครรภ์
จากการทดสอบสาร MTBE ด้านพิษวิทยาในสัตว์ทดลองพบว่า สาร MTBE ที่ความเข้มข้น 10,800 mg/m3 ในอากาศ มีผลทำให้น้ำหนักแรกเกิดของหนูลดลง เพิ่มอัตราการแท้งของหนู ก่อให้เกิดเนื้องอกในไตและในอัณฑะของหนูมากขึ้น การรับสาร MTBE ทั้งจากการหายใจและการกิน เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็ง ทั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหนูทดลอง แต่ยังไม่มีรายงานพบว่าสาร MTBE ทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็งในคน ดังนั้น สำนักงานวิจัยและการพัฒนา (ORD) องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) จึงพิจารณาให้สาร MTBE เป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม C คือ เป็นสารที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ จากข้อมูลสนับสนุนการเกิดมะเร็งที่พบในสัตว์ทดลองเท่านั้น
ประชาไทรายงาน
More information please contact us www.nederman.co.th
Sale dept.
Tel       033-674 600 # 4651
Mobile   083-9881563
FB :      www.facebook.com/จำหน่ายระบบบำบัดอากาศฝุ่น - ควันในโรงงาน
TW:      NedermanTH
Google+ : NedermanTH

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น